Menopause (สตรีวัยหมดระดู หรือวัยทอง)
ความแตกต่างระหว่างเพศที่สำคัญอย่างหนึ่งอันเป็นลักษณะจำเพาะของเพศหญิง คือการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนเพศอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยเจริญพันธ์ไปสู่วัยหมดระดู การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้เกิดอาการและอาการแสดงเกือบทุกระบบทั่วร่างกายทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว อาทิเช่น การเปลี่ยนแปลงในด้านของระบบประสาทและสมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิ การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ความจำ การนอนหลับ การเกิดการฝ่อลีบของช่องคลอดและทางเดินปัสสาวะ การเปลี่ยนแปลงของการกระจายตัวของไขมันและน้ำหนักตัว การเพิ่มขึ้นของไขมันที่อยู่ด้านในของช่องท้อง อันนำไปสู่ความเสี่ยงต่อโรคของระบบหัวใจและหลอดเลือด การเกิดการสูญเสียความหนาแน่นของกระดูกและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เป็นต้น
ความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศในช่วงเวลาดังกล่าว จะทำให้บุคลาการทางการแพทย์ได้ตระหนักถึงผลเสียต่อร่างกายที่อาจจะเกิดขึ้น มีการเฝ้าระวัง รวมไปถึงการป้องกันและรักษาที่เหมาะสม นอกจากเรื่องของฮอร์โมนแล้ว อายุและความเสื่อมที่มากขึ้นในช่วงวัยนี้ก็ส่งผลในทางลบต่อสุขภาพของร่างกายด้วยเช่นกัน ดังนั้นสตรีตั้งแต่ช่วงวัยหมดระดูนี้ควรได้รับการตรวจคัดกรองความผิดปรกติที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการคัดกรองมะเร็งที่พบบ่อย คือมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ การตรวจคัดกรองความเสี่ยงต่อโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด การพิจารณาตรวจความหนาแน่นกระดูกในรายที่มีปัจจัยเสี่ยงทางคลินิก เป็นต้น
คำจำกัดความของ menopause และ perimenopausal transition
- Menopausal transition หมายถึง ช่วงเวลาที่เปลี่ยนจากวัยเจริญพันธ์ไปสู่วัยหมดระดู โดยนับจากการที่เริ่มมีประจำเดือนที่ไม่สม่ำเสมอ ไปจนถึงเวลาที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งในช่วงเวลานี้ของสตรีแต่ละคนอาจมีระยะเวลาแตกต่างกัน โดยพบได้ตั้งแต่ประมาณ 1 ถึง 5 ปี โดยในระยะแรกอาจพบว่ามีระยะห่างระหว่างรอบเดือนในแต่ละรอบที่สั้นลง ต่อมาอาจเริ่มมีระยะห่างในแต่รอบเดือนมากขึ้นเรื่อยๆจนไปถึงประจำเดือนครั้งสุดท้าย
- Menopause คือจุดสิ้นสุดของวัยเจริญพันธ์ โดยจะต้องไม่มีประจำเดือนติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือนโดยที่ไม่มีพยาธิสภาพอื่น อายุเฉลี่ยที่หมดประจำเดือนในการศึกษาส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 48-52 ปี นอกจากนี้ menopause อาจเกิดได้จากการผ่าตัด การได้รับยาเคมีบำบัด การได้รับรังสีรักษา ช่วง menopausal transition ในสตรีส่วนใหญ่จะเริ่มที่อายุมากกว่าสี่สิบปีขึ้นไป
ในช่วงของ menopausal transition เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจดังที่กล่าวไปข้างต้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสตรีในวัยนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอาการที่เป็นลักษณะเด่นที่พบในวัยนี้ คืออาการทางระบบประสาทและสมอง อย่างไรก็ตาม การลดลงของฮอร์โมนไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวในการเกิดอาการดังกล่าว ปัจจัยอื่นๆที่อาจส่งผลต่อความรุนแรงของอาการและอาการแสดงทางระบบประสาทและสมอง ในสตรีวัยนี้ เช่น เชื้อชาติ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม รวมไปถึงภาวะทางจิตใจของสตรีแต่ละราย ดังจะพบว่ามีรายงานความชุกของอาการดังกล่าวที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
Menopause as an Opportunity (โอกาสทองของหญิงวัยทอง)
จากการที่มีระดับของฮอร์โมนเพศโดยเฉพาะเอสโตรเจนที่ต่ำลง ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย และมีอาการผิดปกติที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ดังที่กล่าวไปแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ก่อให้เกิดอาการโดยตรง แต่ส่งผลทางอ้อมต่อร่างกาย เช่น การเปลี่ยนแปลงของไขมัน การที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น การเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด metabolic syndrome และโรคทาง cardiovascular ซึ่งนอกจากการลดลงของฮอร์โมนเพศแล้ว เรื่องของอายุและความเสื่อมก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการก่อให้เกิดโรคหรือภาวะต่างๆดังกล่าวด้วย
การดูแลสตรีช่วงวัยหมดระดู ถือได้ว่ามีโอกาสอันดี (menopause as an opportunity) เนื่องจากในช่วงวัยนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะได้มีการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคต่างๆ ที่จะเกิดตามมา กล่าวคือ การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตเพื่อลดโอกาสเกิดโรค อาทิเช่น การงดสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การควบคุมน้ำหนักตัว รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การป้องกันการเกิดโรคหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต โรคกระดูกพรุน การดูแลเรื่องทางสุขภาพจิตและอารมณ์ การดูแลและป้องกันการฝ่อลีบของอวัยวะสืบพันธ์ และการตรวจคัดกรองมะเร็ง
อาการที่พบบ่อย ในตรีวัยทอง
อาการออกร้อนวูบวาบ (Vasomotor symptoms, VMS)
อาการสำคัญที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ความผิดปกติในการควบคุมอุณหภูมิ (hot flush) ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกร้อนขึ้นมารวดเร็วและรุนแรง (sudden sensation of extreme heat) โดยอาการมักเป็นมากที่บริเวณ ใบหน้าลำคอ ซึ่งส่วนใหญ่อาการนี้อาจเป็นอยู่นาน 1-5 นาทีบางรายมีอาการเหงื่อแตก ใจสั่น อาการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อการนอนหลับได้ด้วยความชุกของอาการ VMSแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติและวัฒนธรรมในแต่ละท้องที่ ช่วงอายุที่พบอาการ VMS ได้บ่อยที่สุด คือ menopause transition ช่วงท้ายๆ หรือ ช่วงวัยหมดระดูในช่วงต้น นอกจากนี้การศึกษาในช่วงหลังพบว่า ระยะเวลาที่มีอาการ VMS มักเป็นอยู่นานกว่าข้อมูลเดิมที่มักกล่าวว่าอาการมักเป็นอยู่ราว 6 เดือนถึง 2 ปี แต่ข้อมูลในระยะหลังรายงานว่าอาการอาจเป็นได้นานถึง 4-10 ปี
พยาธิสรีรวิทยาของการเกิดอาการ VMS ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการที่ระดับของฮอร์โมนเพศลดลง และการให้ฮอร์โมนเพศ นับเป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด กลไกของการเกิด VMS เชื่อว่าเกิดการแคบลงของ thermoregulatory zone ทำให้ร่างกายมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกายมากขึ้น เช่นการที่เพิ่มอุณหภูมิร่างกายเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้มีการกระตุ้นกลไกของ thermoregulator และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีอาการ VMS และเกิดเส้นเลือดขยายและ เหงื่อออก การให้เอสโตรเจนจะไปทำให้ thermoregulatory zone ถ่างขยายออก แต่นอกจากเอสโตรเจนแล้ว ยังมีกลไกอื่นๆที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับ serotonergic, noradrenergic, opioid, และระบบประสาท autonomic
อาการทางช่องคลอด (Vaginal Symptoms)
การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งทางโครงสร้างและการสรีรวิทยาของช่องคลอดและทางเดินปัสสาวะ มีข้อมูลที่พบว่ามีความชุกของอาการฝ่อลีบของช่องคลอดในสตรีวัยหมดระดูถึงร้อยละ 10-40 โดยอาการที่มักพบได้บ่อย คือ อาการช่องคลอดแห้ง คัน เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ กลุ่มอาการทางช่องคลอด นี้มักมีอาการที่รุนแรงมากขึ้นตามระยะเวลาหลังหมดประจำเดือนและมักจะไม่ดีขึ้นเองหากไม่ได้รับการรักษา ซึ่งแตกต่างกับอาการทาง VMS ที่มักจะมีอาการดีขึ้นได้ แม้อาจไม่ได้รับการักษา และอาการทาง VMSพบได้น้อยลงในขณะที่สตรีวัยหมดระดูมีอายุมากขึ้นและแม้ว่าจะพบอาการผิดปกติที่สัมพันธ์กับอาการทางช่องคลอดได้บ่อยเกือบครึ่งหนึ่งของสตรีวัยหมดประจำเดือน แต่อาการเหล่านี้กลับถูกมองข้ามจากทั้งตัวผู้ป่วยเองที่มักมองว่าเป็นเรื่องตามธรรมชาติ และจากบุคลากรทางการแพทย์ที่อาจไม่ได้ตระหนักถึงผลลัพธ์ในด้าน sexual dysfunction และ quality of life ทำให้ผู้ป่วยมักไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ทั้งที่มีทางเลือกในการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยอยู่ก็ตาม