หมอสูติฯ เสนอคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์ฯ รับภาวะมีบุตรยากเป็นโรค ให้เพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาหวังเพิ่มการเกิด หลังพบปี 63 อัตราเกิดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์!!
ศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เผยว่า ปี 2563 ถือเป็นปีแรกที่ไทยมีอัตราการเด็กเกิดใหม่ลดลงต่ำกว่า 600,000 คน ไทยเผชิญปัญหาเด็กเกิดน้อยต่อเนื่องมาหลายปี จากอัตราการเจริญพันธุ์รวม 5.1 คน ขณะนี้เหลือเพียง 1.51 คน จนต่ำกว่าอัตราที่เหมาะสม 2.1 คน ตามที่องค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกกำหนดไว้ นำมาซึ่งปัญหาหลัก 2 ประการ คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว และปัญหาแรงงานข้ามชาติเข้ามาแทนที่ประชากรของประเทศ โดยก่อนหน้านี้ ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหานี้ก่อนไทย
ขณะเด็กที่เกิดมีอัตราน้อยอยู่แล้ว ยังพบปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นโรคดาวน์ซินโดรม และอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กเพิ่มขึ้น จากปัจจัยที่มารดาตั้งครรภ์เมื่อมีอายุมาก ดังนั้นเพื่อเพิ่มอัตราเกิด จึงเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ยอมรับว่า “ภาวะการมีบุตรยาก” เป็นโรค และควรเพิ่มการรักษา โดยเข้าเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในระบบสุขภาพ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องรอให้มีอายุมาก
กรณีเป็นโรคดาวน์ซินโดรม ปกติหากมารดาอายุต่ำกว่า 35 ปี โอกาสป่วยอยู่ที่ 1 ต่อ 800 แต่หากมารดาอายุมากกว่า 35 ปี โอกาสเพิ่มเป็น 1 ต่อ 350 และหากอายุ 40 ปี จะเพิ่มเป็น 1 ต่อ 100 ทั้งนี้ หากประชาชนเข้าถึงสิทธิประโยชน์รักษาภาวะมีบุตรยากจะช่วยให้อัตราเกิดเพิ่มขึ้นได้ อย่างเช่นหลายประเทศในยุโรป