ข้อกฎหมายที่ต้องรู้ การรักษามีบุตรยาก ในประเทศไทย
ข้อกฏหมายคำอธิบายเกี่ยวกับใช้ตัวอ่อนบริจาค
การใช้ตัวอ่อนบริจาคเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสที่ฝ่ายภริยาไม่มีไข่และ ฝ่ายสามีก็ไม่มีตัวอสุจิ หรือทั้งสองฝ่ายมีความผิดปกติทางพันธุกรรมซึ่งอาจถ่ายทอดและส่งผลให้ทารกมีความ ผิดปกติอย่างรุนแรง เมื่อมีการตั้งครรภ์
ขั้นตอนการรักษา
แพทย์จะให้การดูแลรักษาเกี่ยวกับการให้และรับการบริจาคตัวอ่อนดังต่อไปนี้
- ตรวจคัดกรองหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยในผู้ให้ตัวอ่อน บริจาค ทั้งสามีและภริยาที่อาจติดต่อหรืออาจถ่ายทอดมายังผู้รับบริจาคหรือทารกในครรภ์ แต่อย่างไรก็ตามการตรวจคัดกรองดังกล่าวมิได้มีความแม่นยำถึงร้อยละร้อย
- ตรวจประเมินความพร้อมของร่างกาย จิตใจ และมดลูกของภริยา ผู้รับตัวอ่อนบริจาค
- เตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกของภริยาผู้รับตัวอ่อนบริจาคให้มีความพร้อมที่จะรับการฝังตัวของตัวอ่อน
- ทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกของภริยาผู้รับตัวอ่อนบริจาค
ความเสี่ยง
- การย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกอาจรู้สึกเจ็บ หรือมีการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะสืบพันธุ์ภายใน
- การให้ฮอร์โมนเพื่อประคับประคองการตั้งครรภ์ ยังไม่พบว่ามีผลทำให้เกิดความผิดปกติของทารก
- มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์แฝดหรือครรภ์แฝดที่มีทารกหลายคนได้มากกว่าการตั้งครรภ์เองตาม ธรรมชาติซึ่งการตั้งครรภ์แฝดเป็นสิ่งที่สูติแพทย์ทั่วไปไม่พึงประสงค์ และถือเป็นการตั้งครรภ์ที่มี ความเสี่ยงสูง เช่น มีความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ การตกเลือดระหว่างคลอด ทารกคลอดก่อน กำหนด รวมทั้งมีอัตราการป่วยและอัตราตายของมารดาและทารกสูงกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว อย่างไรก็ตาม ในการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ บางครั้งอาจมีความ จำเป็นในการย้ายตัวอ่อนมากกว่าหนึ่งตัวอ่อนเพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้สูงขึ้น แม้ว่าจะทำให้อัตราการตั้งครรภ์แฝดสูงขึ้นก็ตาม
ประเด็นข้อกฎหมาย
- ผู้บริจาคตัวอ่อนต้องมีอายุระหว่าง 20-35 ปี ขณะทำการปฏิสนธิตัวอ่อน และต้องมีสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย
- ผู้รับบริจาคตัวอ่อนต้องมีสัญชาติเดียวกันกับผู้บริจาค
- ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อ เสนอซื้อ ขาย นำเข้า หรือส่งออก ตัวอ่อน และห้ามนำตัวอ่อนไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า
- ห้ามผู้รับบริจาคตัวอ่อนใช้ตัวอ่อนจากผู้บริจาคมากกว่า 1 คน ในแต่ละรอบการรักษา
- ชายหรือหญิงผู้บริจาคตัวอ่อนและเด็กที่เกิดจากตัวอ่อนที่บริจาคดังกล่าวไม่มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก
ข้อกฏหมายคำอธิบายเกี่ยวกับการใช้ไข่บริจาค
การใช้ไข่บริจาคเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสที่ภริยาไม่มีไข่หรือรังไข่ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นเพื่อการปฏิสนธิกับอสุจิ หรือมีความผิดปกติทางพันธุกรรมซึ่งอาจถ่ายทอดและส่งผลให้ทารกมีความผิดปกติอย่างรุนแรงเมื่อมีการตั้งครรภ์
ขั้นตอนการรักษา
แพทย์จะให้การดูแลรักษาเกี่ยวกับการให้และรับบริจาคไข่อย่างเป็นขั้นตอนอย่างหนึ่งอย่างใด หรือ หลายอย่างดังต่อไปนี้
ในส่วนของผู้ให้ใข่บริจาค สตรีที่ให้ใช้ไข่บริจาคจะต้องผ่านขั้นตอนของการทำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ดังนี้
- ตรวจประเมินตามมาตรฐานเพื่อดูว่ามีความเหมาะสมที่จะบริจาคไข่ และตรวจคัดกรองหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือโรคทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยที่อาจติดต่อ หรืออาจถ่ายทอดมายังผู้รับบริจาคหรือทารกในครรภ์ แต่อย่างไรก็ตามการตรวจคัดกรองดังกล่าวมิได้มีความแม่นยำถึงร้อยละร้อย
- ตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนร่วมกับการใช้ยาที่เหมาะสมในการกระตุ้นรังไข่
- ตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด เพื่อติดตามการตอบสนองของรังไข่และ กําหนดเวลาที่ไข่ตกหรือเพื่อเก็บไข่
- เก็บไข่โดยใช้เข็มดูดร่วมกับการใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านทางช่องคลอด
ในส่วนของผู้รับไข่บริจาค
- ให้สามีผู้รับไข่บริจาคเก็บน้ำอสุจิ และนำมาผ่านกระบวนการเตรียมในห้องปฏิบัติการ
- นำไข่ที่ได้มาปฏิสนธิกับอสุจิของสามีผู้รับไข่บริจาคให้เป็นตัวอ่อนในตู้เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ ตามกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว และเพาะเลี้ยงตัวอ่อนให้เจริญเติบโตจนถึงระยะที่สามารถ ย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกได้
- เตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกของภริยาผู้รับไข่บริจาคให้มีความพร้อมที่จะรับการฝังตัวของตัวอ่อน
- ทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกของภริยาผู้รับไข่บริจาค
ความเสี่ยง
ในส่วนของผู้ให้ไข่บริจาค การรับบริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ขั้นตอน ต่าง ๆ อาจมีความเสี่ยงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ แม้ว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่มากก็ตาม เช่น
- การเจาะเลือดอาจรู้สึกเจ็บหรือบวมช้ำบริเวณที่เจาะเลือดซึ่งมักจะหายไปได้เองในเวลาไม่กี่วัน
- การตรวจเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของไข่ด้วยเครื่องตรวจคลื่นความเสี่ยงสูงยังไม่พบว่ามี อันตรายแต่ประการใด นอกจากอาจรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อย
- โดยทั่วไปยากระตุ้นไข่มักไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ แต่ทั้งนี้อาการแพ้ยายังขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งไม่อาจคาดเดาได้ล่วงหน้า
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีความไวต่อฮอร์โมนที่ใช้กระตุ้นไข่และมีการตอบสนองอย่างมาก ทำให้มีฟอง ไข่ (follicle) เจริญขึ้นเป็นจำนวนมากจนอาจเกิดเป็นภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (ovarian hyperstimulation syndrome) ซึ่งจะพบได้ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยที่รับการกระตุ้นไข่โดยจะทำให้มีอาการท้องอืดและมีน้ำขังในช่องท้องซึ่งมักจะเป็นอยู่ประมาณ 7-10 วัน ทั้งนี้มีประมาณร้อยละ 1 ที่มีอาการรุนแรงมากจนต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
- จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สตรีที่มีบุตรยากที่ได้รับยากระตุ้นการตกไข่มีอัตราการเกิดมะเร็งรัง ไข่และมะเร็งเต้านมไม่แตกต่างกับสตรีมีบุตรยากที่ไม่เคยได้รับยากระตุ้นการตกไข่
- การเก็บไข่โดยใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านทางช่องคลอดอาจมีการบาดเจ็บหรือการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะต่างๆ เช่น รังไข่มดลูก ท่อนำไข่ และกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น ในบางกรณีอาจเป็นไปได้ที่เข็มเจาะดูดไข่จะทำให้เกิดบาดแผลต่อลำไส้ หรือหลอดเลือดทำให้ต้อง ได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน
- อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบหรือการให้ยาระงับความรู้สึก
ในส่วนของผู้รับไข่บริจาค
- การย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกอาจรู้สึกเจ็บ หรือมีการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะสืบพันธุ์ภายใน
- การให้ฮอร์โมนเพื่อประคับประคองการตั้งครรภ์ ยังไม่พบว่ามีผลทำให้เกิดความผิดปกติของทารก
- มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์แฝดหรือครรภ์แฝดที่มีทารกหลายคนได้มากกว่าการตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ ซึ่งการตั้งครรภ์แฝดเป็นสิ่งที่สูติแพทย์ทั่วไปไม่พึงประสงค์และถือเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ การตกเลือดระหว่างคลอด ทารกคลอด ก่อนกำหนดรวมทั้งมีอัตราการป่วยและอัตราการตายของมารดาและทารกสูงกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว อย่างไรก็ตามในการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ บางครั้งอาจมีความจำเป็นในการย้ายตัวอ่อนมากกว่าหนึ่งตัวก่อนเพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้สูงขึ้น แม้ว่าจะทำให้อัตราการตั้งครรภ์แฝดสูงขึ้นก็ตาม
ประเด็นข้อกฎหมาย
- ผู้บริจาคไปต้องมีอายุระหว่าง 20-35 ปีบริบูรณ์ และต้องมีหรือเคยมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย
- ผู้บริจาคไปมีสัญชาติเดียวกันกับผู้รับบริจาค
- ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อ เสนอซื้อ ขาย นำเข้า หรือส่งออกไข่ และห้ามนำไข่ไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า
- ห้ามผู้รับบริจาคใช้ไข่จากผู้บริจาคมากกว่า 1 คน ในแต่ละรอบการรักษา
- หญิงที่เป็นเจ้าของไข่ และ เด็กที่เกิดจากไข่บริจาค ไม่มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก
ข้อกฏหมายการใช้อสุจิบริจาค
การใช้อสุจิบริจาคเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสที่ฝ่ายชายไม่มีตัวอสุจิ หรือ ตัวอสุจิมีความผิดปกติ หรือมีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือมีโรคหรือภาวะที่ไม่สามารถใช้อสุจิของสามี เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์
ขั้นตอนการรักษา
แพทย์จะให้การดูแลรักษาเกี่ยวกับการบริการอสุจิบริจาคดังต่อไปนี้
- ตรวจคัดกรองหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือโรคทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยในผู้บริจาคอสุจิ ที่อาจติดต่อหรืออาจถ่ายทอดมายังผู้รับบริจาคหรือทารกในครรภ์แต่อย่างไรก็ตามการตรวจคัดกรองดังกล่าวมิได้มีความแม่นยำถึงร้อยละร้อย
- กรณีใช้อสุจิบริจาคเพื่อการผสมเทียม จะเก็บแช่แข็งอสุจิไว้อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของผู้บริจาคก่อนนำอสุจิมาใช้
- ตรวจประเมินความพร้อมของร่างกาย จิตใจ รวมทั้งมดลูกและรังไข่ของภริยาผู้รับอสุจิบริจาค ก่อนจะนำอสุจิบริจาคมาทำการผสมเทียม (Intrauterine insemination, IUI) หรือปฏิสนธิกับ ไข่ ภายนอกร่างกาย (In vitro fertilization, IVF) ตามแต่กรณี
ประเด็นข้อกฎหมาย
- ผู้บริจาคอสุจิต้องมีอายุระหว่าง 20 – 45 ปีบริบูรณ์
- ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อ เสนอซื้อ ขาย นำเข้า หรือส่งออกอสุจิ
- ห้ามผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับฝ่ายภรรยา เป็นผู้บริจาคอสุจิ
- ชายที่เป็นเจ้าของอสุจิ และเด็กที่เกิดจากอสุจิบริจาคไม่มีสิทธิ และหน้าที่ระหว่างกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว และมรดก
การรักษาด้วยการตั้งครรภ์แทน
คำอธิบายเกี่ยวกับการรักษาด้วยการตั้งครรภ์แทน
การตั้งครรภ์แทน (surrogacy) เป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาภาวะมีบุตรยากในกรณีที่ภริยาของ สามีที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีบุตรยากไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการที่ไม่มีมดลูกแต่กำเนิด มดลูกผิดปกติแต่กำเนิด เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกแทรกกล้ามเนื้อมดลูก ภาวะที่มีพังผืดในโพรงมดลูก การที่ไม่มีมดลูกจากการผ่าตัด การที่มีโรคที่อาจจะเกิดอันตรายต่อหญิงที่ตั้งครรภ์หรือทารกในครรภ์ได้ หรือการที่ไม่สามารถตั้งครรภ์จากการรักษาภาวะมีบุตรยากเนื่องจากภาวะการฝังตัวของตัวอ่อนล้มเหลว (Recurrent implantation failure) จึงต้องให้หญิงอื่นทำหน้าที่ตั้งครรภ์แทน
ขั้นตอนในการรักษา
- ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับความจำเป็น ขั้นตอน ภาวะแทรกซ้อน ผลกระทบ และประเด็นทางกฎหมายแก่สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะมีบุตรและหญิงที่ตั้งครรภ์แทนรวมทั้งสามี
- ตรวจประเมินสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะมีบุตรโดยมีการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้อง และสาเหตุของการมีบุตรยาก
- ตรวจประเมินหญิงที่ตั้งครรภ์แทนและสามี โดยมีการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการตรวจสุขภาพของหญิงที่ตั้งครรภ์แทน
- ให้การรักษาสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะมีบุตรตามขั้นตอนเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ จนได้ตัวอ่อนสำหรับการนำไปย้ายฝากเข้าสู่โพรงมดลูกของหญิงที่ตั้งครรภ์แทน
- เตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกของหญิงที่ตั้งครรภ์แทน ให้มีความพร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน
- ย้ายฝากตัวอ่อนของสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะมีบุตรจำนวนครั้งละ 1 ตัวอ่อนเข้า สู่โพรงมดลูกของหญิงที่ตั้งครรภ์แทน
อัตราความสำเร็จ
อัตราการตั้งครรภ์จะใกล้เคียงกับอัตราการตั้งครรภ์เฉลี่ยในการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทั่วไป ซึ่งขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์แข็งแรงของตัวอ่อนของสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะมีบุตร และ ความสมบูรณ์ของเยื่อบุโพรงมดลูกของหญิงที่ตั้งครรภ์แทน
ความเสี่ยง
ในกรณีเกิดการตั้งครรภ์อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ในหญิงที่ตั้งครรภ์แทนเช่นเดียวกับการตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ เช่น การแท้งบุตร การตั้งครรภ์นอกมดลูก ทารกตายในครรภ์หรือมีความพิการแต่กำเนิด ภาวะครรภ์เป็นพิษ การตกเลือดหลังคลอด เป็นต้น นอกจากนี้ แม้ว่าตามกฎหมายจะอนุญาตให้ย้ายกลับตัวอ่อนได้ครั้งละ 1 ตัวอ่อน แต่ก็ยังอาจจะเกิดการตั้งครรภ์แฝดที่มาจากตัวอ่อนใบเดียวได้ ซึ่งการตั้งครรภ์แฝดถือเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงเพราะทำให้อัตราป่วยและอัตราตายของมารดาและทารกสูงกว่าการตั้งครรภ์ที่มีทารกคนเดียว สำหรับวิธีการคลอดเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางสูติศาสตร์ซึ่งในบางกรณีจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดถ้าไม่สามารถคลอดเองทางช่องคลอดได้
ทารกที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนมีโอกาสเกิดความพิการแต่กำเนิดไม่แตกต่างจากทารกที่เกิดจากการตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ
ประเด็นข้อกฎหมาย
- สามีและภริยาที่ประสงค์จะมีบุตรต้องมีสัญชาติไทย ในกรณีที่สามีหรือภริยามิได้มีสัญชาติไทยต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
- หญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ประสงค์จะมีบุตรแต่ต้องมิใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดาน กรณีมิใช่เป็นญาติสืบสายโลหิตต้องมีสัญชาติเดียวกันกับสามีหรือภริยาที่ประสงค์จะมีบุตร
- หญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องมีอายุระหว่าง 20 – 40 ปีบริบูรณ์ และเคยมีบุตรมาแล้วโดยการคลอดธรรมชาติไม่เกิน 3 ครั้ง หรือในกรณีผ่าคลอดไม่เกิน 1 ครั้ง รวมทั้งจะรับตั้งครรภ์แทนจนคลอดบุตรได้ ไม่เกิน 2 ครั้ง
- ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า
- จะดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนต้องได้รับอนุญาตจาก กคทพ. ก่อน
- หญิงตั้งครรภ์แทนจะต้องดูแลทารกในครรภ์เช่นวิญญูชนพึงกระทำ และสามีภริยาที่ประสงค์จะมีบุตรจะต้องรับผิดอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการรักษาตามกระบวนการตั้งครรภ์แทน ค่าใช้จ่ายในการบำรุงสุขภาพของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ทั้งในระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดและระยะหลังคลอดเป็น เวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาความเจ็บป่วยทางสุขภาพอัดเกิดจากการตั้งครรภ์แทน ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
ข้อมูลอ้างอิงที่มาจาก : ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558